Solar cell ได้รับความนิยมติดตั้งตามบ้านเรือนมากขึ้นในปัจจุบัน แต่มีเรื่องควรรู้คือ หากเราต้องการใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคด้วยแล้ว ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่าระบบออนกริด เราต้องทำการขออนุญาตขนานระบบ Solar cell ของเราให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติงานแก้ไขระบบไฟฟ้าในยามที่ไฟฟ้าขัดข้องอีกด้วย
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเพื่อขอขนาน(On-Grid) Solar cell กับระบบไฟฟ้าแรงต่ำ 380/220V ของ PEA
- ส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ที่เราติดตั้ง Solar cell เช่น อบต. / เทศบาล เพื่อตรวจสอบว่ามีการดัดแปลงอาคารหรือไม่
- กกพ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานในพื้นที่ (กรณีไม่เกิน 10kW-inverter) / สำนักงานเขต (กรณีเกิน 10kW-inverter ขึ้นไป)
ขั้นตอนการขอขนานระบบโซล่าร์เซลล์เข้าสู่ระบบไฟฟ้าของ กฟภ.
1.ไปที่ส่วนท้องถิ่น
กรณีการติดตั้งไม่เกิน 160 ตร.ม. (ขนาดแผงรวม)
- ทำบันทึกแจ้งท้องถิ่นว่า เราดำเนินการอะไรกับตัวบ้าน เช่น พร้อมด้วยเอกสารเจ้าของบ้าน (บัตรประชาชน/ทะเบียนบ้าน) และเอกสารแบบติดตั้งที่มีวิศวกรโยธารับรองแบบว่าปลอดภัย สามารถรับน้ำหนักได้
กรณีติดตั้งเกิน 160 ตร.ม. (ขนาดแผงรวม)
- ส่งแบบฟอร์ม อ.1 ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร พร้อมด้วยเอกสารเจ้าของบ้าน (บัตรประชาชน/ทะเบียนบ้าน) และเอกสารแบบติดตั้งที่มีวิศวกรโยธารับรองแบบว่าปลอดภัย สามารถรับน้ำหนักได้
- ต้องมีวิศวกรโยธา ควบคุมงานติดตั้งแผงด้วย
2. ยื่นเอกสารออนไลน์ให้ กกพ. เพื่อแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้น
- เข้าไปที่เว็บไซต์ https://cleanenergyforlife.net/login โดยเตรียมเอกสารที่แสดงว่า ส่วนท้องถิ่นได้รับทราบการดำเนินการดังกล่าว หรือ ใบ อ.1 และรายละเอียดระบบ Solar cell ที่เราติดตั้ง เช่น สเปคอินเวอร์เตอร์ สเปคแผง / แบบ Single Line Diagram ที่มีวิศวกรเซ็นรับรอง โดยเตรียมไฟล์ให้อยู่ในรูปแบบ .pdf หรือ .jpg ในการแนบไฟล์
3. ติดต่อดำเนินการขอขนาน(On-Grid) Solar cell เข้ากับระบบไฟฟ้าของ PEA ที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
เตรียมเอกสารประกอบแบบคำขอเชื่อมต่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า(Solar cell) ดังนี้
1. Single Line Diagram พร้อมวิศวกรรับรองแบบและสำเนาใบประจำตัวผู้ประกอบวิชาชีพที่ยังไม่หมดอายุ
2. แผนที่เดินทางไปยังสถานที่ติดตั้งพร้อมระบุพิกัด GPS
3. รายละเอียดข้อมูลทางเทคนิคของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า(Solar cell)
- อินเวอร์เตอร์ ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนของ กฟภ. เท่านั้น (อัพเดทรุ่น/ยี่ห้อ ทุก 6เดือน)
*ตรวจสอบ รายชื่อผลิตภัณฑ์ที่ผ่านหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่นี่ - แผงโซล่าร์เซลล์
4. เอกสารของเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้าที่จะขนานไฟฟ้าเข้าระบบ
- สำเนาบัตรประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
- หนังสือมอบอำนาจ (กรณีรับมอบอำนาจจากเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้า) และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
5. หลักฐานการเป็นผู้ใช้ไฟฟ้า (ใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า/ใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้า)
6. ภาพถ่ายการติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า (กรณีติดตั้งแล้ว) เช่น ภาพถ่ายแผงโซล่าร์เซลล์, ภาพถ่ายอินเวอร์เตอร์
7. หนังสือรับแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้น (ที่ดำเนินการกับ กกพ. ผ่านระบบออนไลน์)
เมื่อเอกสารครบแล้ว ให้ดำเนินการดังนี้
- ผู้ขอใช้บริการยื่นแบบคำขอเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- กฟภ.ตรวจสอบเอกสารและพิจารณาทางเทคนิค
- กฟภ. แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ขอใช้บริการเชื่อมต่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟภ. ให้ผู้ขอใช้บริการทราบ
- ผู้ขอใช้บริการชำระค่าใช้จ่ายและทำหนังสือขอให้ กฟภ. เข้าทดสอบการเชื่อมต่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
- กฟภ. เข้าทดสอบเชื่อมต่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
- ผลการทดสอบขนานเครื่อง “ผ่านตามมาตรฐานที่กำหนดไว้”
- กฟภ. แจ้งวันเชื่อมต่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
ที่มา : การขอเชื่อมต่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากับระบบไฟฟ้าแรงต่ำ 380/220V ของ PEA
ซึ่งกระบวนการดังกล่าวใช้เวลาดำเนินการ รวมทั้งสิ้น ราวๆ 60 วัน ถ้าไม่มีอะไรที่ต้องแก้ไข หรือเพิ่มเติมในส่วนที่ไม่ครบถ้วน แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้ขอขนานเป็นจำนวนมาก กฟภ. จึงได้มีการสงวนสิทธิ์ในการปรับระยะเวลาตามความเหมาะสม ดังนั้น เราควรจะศึกษามาตรฐานต่างๆ และเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนมากที่สุด เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาแก้ไขครับ