solar-panels-estimate-install

ตีแผ่! วิธีคำนวณโซล่าเซลล์ – ขนาดแผงโซล่าเซลล์ที่เหมาะสม กับการใช้ไฟฟ้าของคุณ

การหาขนาดแผงโซล่าเซลล์เราต้องติดตั้งจริง ที่เหมาะสม โดยดูจากการใช้ไฟฟ้า โดย คำนึงว่าช่วงกลางวัน ที่มีแสงแดด เราใช้ไฟฟ้าปริมาณมากน้อยเพียงใด ซึ่งมีวิธีการเบื้องต้น 3 วิธี ดังนี้

วิธีที่ 1 วัดกระแสใช้งานจริง (แนะนำช่วงเวลา 12.00 น.)

 

Clamp meter measuringวิธีนี้เราต้องมีอุปกรณ์ด้วยนะ คือ Clamp วัดกระแสไฟฟ้า หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า คลิปแอมป์ ใครไม่มีก็ลองเข้าไปสั่งซื้อกันได้ >>>ที่นี่<<< จะมีรุ่นที่ แนะนำ และไม่แพงไว้ให้นะครับ

– นำคลิปแอมป์ ไปวัดกระกระแส โดยเอาไปคล้องที่ สายไฟด้านออกของมิเตอร์ (ตอนที่เราใช้ไฟฟ้าตามปกติของวัน)

– ยกตัวอย่างมิเตอร์ 1 เฟส ที่ใช้กันทั่วๆไป ขนาด 15(45) หรือ มิเตอร์อิเลคทรอนิกส์ 5(100) วัดค่ากระแสไฟฟ้าได้ 13.5 A

จะได้ค่าจากสูตร P=IV ซึ่ง 0.23 คือ 230 v

โหลดการใช้ไฟฟ้า คือ  13.5 x 0.23 = 3.105 kW

ดังนั้น ต้องติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ขนาดรวม 3.105 / 0.8 = 3.88kW   ; 0.8 = 80% ประสิทธิภาพของแผงโซล่าเซลล์

 

วิธีที่ 2 อ่านหน่วยจากมิเตอร์ไฟฟ้า ตามช่วงเวลาช่วงกลางวัน

electric-measuring-power-meter

เราจะกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ ช่วงเวลาที่เราจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ด้วยคือ ต้องเป็นช่วงเวลาที่มีแดดออก ดังนั้น ช่วงเวลาที่แนะนำให้อ่านหน่วยคือ 09.00-15.00 น.

– เวลา 09.00 น. ไปยืนดูหน่วยที่มิเตอร์ของเรา แล้วจดค่าไว้ ยกตัวอย่างเช่น ได้ค่า 2452 kWh

– เวลา 15.00 น. ไปยืนดูหน่วยที่มิเตอร์ของเรา แล้วจดค่าไว้ ยกตัวอย่างเช่น ได้ค่า 2467 kWh

– หาค่าโดย นำค่า 15.00 น. ไปลบค่า 09.00 น.

จะได้ 2467-2452 = 15 kWh

นำ 15 kWh ไปหารจำนวนชั่วโมงที่ผ่านไป กรณีนี้คือ 6 ชั่วโมง (09.00-15.00 น.)

จะได้ 15/6 = 2.5kW

ดังนั้น ต้องติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ขนาดรวม 2.5 / 0.8 = 3.125 kW   ; 0.8 = 80% ประสิทธิภาพของแผงโซล่าเซลล์

 

วิธีที่ 3 การดูหน่วยการใช้ไฟฟ้าจากบิลค่าไฟฟ้า

Electricity bill
ในบิลค่าไฟฟ้าจะมีหน่วยการใช้ไฟฟ้ารวมทั้งเดือน ให้เราทราบ แต่ในกรณีนี้เราต้องรู้ว่า ปกติเราใช้ไฟฟ้ามากตอนช่วงเวลาไหน เพื่อสามารถแบ่งสัดส่วนได้อย่างถูกต้องเพื่อความแม่นยำ

– ดูในบิลค่าไฟฟ้า จะมีช่อง จำนวนหน่วยที่ใช้ทั้งเดือน ให้นำมาหารจำนวนวันของบิลเดือนนั้นๆ

เช่น เดือน เมษายน ใช้ไฟฟ้าไปจำนวน 1500 kWh ซึ่งเดือนเมษายน มี 30 วัน

จะได้ 1500 / 30 = 50 kWh

– ให้คิดถึงการใช้ไฟฟ้าจริงของเราว่า เราใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันกี่ส่วน ยกตัวอย่าง กลางวันใช้ไฟฟ้า 40% (มีคนอยู่บ้าน เปิดแอร์ หรือใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าบางส่วน)

จะได้ว่า 50 x 0.4 = 20 kWh

นำ 20 kWh ไปหารจำนวนชั่วโมงที่น่าจะใช้ไฟ กรณีนี้คือ 6 ชั่วโมง (09.00-15.00 น.)

จะได้ 20/6 = 3.33 kW

ดังนั้น ต้องติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ขนาดรวม 3.33 / 0.8 = 4.16 kW   ; 0.8 = 80% ประสิทธิภาพของแผงโซล่าเซลล์

 

เมื่อเรามองถึงวิธีการคำนวณโซล่าเซลล์คร่าวๆ ทั้ง 3 วิธี จะพบว่า แต่ละวิธีการ มีความแตกต่างกัน ดังนั้น เราจึงควรเลือกวิธีที่เราคิดว่าจะสามารถสะท้อนถึงการใช้ไฟฟ้าเราได้ตรงที่สุดมาใช้ หรือจะใช้ทั้ง 3 วิธี หากมีค่าใกล้เคียงกัน เหมือนตัวอย่าง ก็ถือได้ว่า สามารถนำไปใช้เลือกขนาดติดตั้งที่เหมาะสมกับเราได้นั่นเอง

 

และยังมีอีกหลายอย่างที่เราจะต้องรู้เกี่ยวกับการคำนวณโซล่าเซลล์ นั่นคือ พื้นที่ติดตั้ง / ค่าไฟฟ้าที่ลดได้ และระยะเวลาคืนทุน ซึ่งเราจะไปพูดถึงแต่ละประเด็นดังกล่าว โดยสรุปเบื้องต้นต่อไปนี้

 

พื้นที่ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์

แผงโซล่าเซลล์นั้น ต้องติดตั้งบนหลังคา หรือพื้นด้านบนสุดของอาคาร ดังนั้น เราจึงต้องทราบว่า ขนาดของแผงโซลล่าเซลล์ที่เราต้องการติดตั้งนั้น จะเพียงพอกับพื้นที่ที่ใช้ติดตั้งหรือไม่อีกด้วย ซึ่งเราจะมาคำนวณพื้นที่ติดตั้งโซลล่าเซลล์เบื้องต้นดังนี้

– ตัวอย่าง ถ้าเรารู้ว่าจะติดตั้งแผงโซล่าเซลล์รวมเท่าไร ตามการคำนวณโซล่าเซลล์ที่เราใช้ 3 วิธีข้างต้นนั้น แล้วว่าจะต้องติดตั้งรวมคือขนาด 5 kW

  • เลือกใช้แผงขนาด 450 w  จะได้จำนวนแผง คือ 5000 / 450 = 11.11 แผง หรือ 12 แผง

จะใช้พื้นที่สำหรับติดตั้งจริง คือ 12  x 2.173 = 26.067 ตารางเมตร ; 2.173 คือ ขนาดพื้นที่ แผง LONGi Mono Halfcell ที่นิยมใช้กัน

 

ค่าไฟฟ้าที่ลดได้

การติดตั้งโซล่าเซลล์ที่เรารู้ๆกันดีว่า เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้าเป็นหลัก ดังนั้นเราจะมาลองคำนวณค่าไฟฟ้าที่ลดได้จริงว่าจะช่วยให้เรามีเงินในกระเป๋ามากขึ้นเท่าไรต่อเดือน ดังนี้

– ถ้าติดตั้งที่ 5kW โดยมีประสิทธิภาพในการผลิตที่ 80% (ใช้ค่า 0.8) และคิดการผลิตที่ 5 ชั่วโมงต่อวัน โดยมีค่าไฟฟ้าที่หน่วยละ 4.5 บาท (ปรับค่าต่างๆได้ตามความเหมาะสม หรืออุปกรณ์จริงที่ท่านใช้งาน)

  • จะคำนวณได้ดังนี้ 5 x 0.8 x 5 x 4.5 = 90 บาท ต่อ วัน
  • จะประหยัดค่าไฟฟ้าได้เดือนละ 90 x 30 = 2700 บาท ต่อ เดือน
  • จะประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 2700 x 12 = 32400 บาท ต่อ ปี

ทั้งนี้การประหยัดไฟที่คำนวณกับการใช้งานจริงอาจจะแตกต่างกันบ้าง ในเรื่องของเวลาในการผลิต เช่น หน้าฝน อาจจะผลิตได้น้อยกว่าหน้าร้อน หรือ ช่วงที่วันหยุดเยอะในแต่ละเดือนที่ไม่มีการใช้ไฟฟ้าอยู่แล้วเป็นต้น แต่ยังไงก็ตาม การมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน ย่อมเป็นเรื่องดีอยู่แล้วใช่ไหมครับ

 

ระยะเวลาคืนทุน

เมื่อเราได้ทราบถึงค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้แล้วนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่เราคำนวณโซล่าเซลล์กันก็เพื่อให้ทราบถึงระยะเวลาที่คืนทุน เพราะหลังจากนั้น คือไฟฟรีที่ทุกคนเข้าถึงได้ พลังงานจากแสงแดดของคนทั้งโลก ที่จะช่วยยกระดับการใช้ชีวิตของเราทุกคนที่ติดตั้งโซล่าเซลล์นั่นเอง มาลองคำนวณกันครับ

– ที่กำลังการผลิตขนาด 5 kW ที่เราติดตั้งไป ได้ค่าไฟฟ้าลดลง ปีละ 32400 บาท ต่อ ปี ซึ่งราคาติดตั้งระบบ 5 kW ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA Solar ที่นิยมติดตั้งกันนั้น อยู่ที่ราคาประมาณ 225000 บาท (หากไม่รวมออฟชั่นอื่นๆ)

  • จะได้ระยะเวลาคืนทุน คือ 225000 / 32400 = 6.94 ปี

แต่ทุกท่านทราบหรือไม่ว่า แท้จริงแล้วเงินที่เราลงทุนไปนั้น หากคิดคำนวณค่าของเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี จะถือว่า ระยะเวลาการคืนทุนของระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านนั้น เร็วมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน ซึ่งผมจะนำเสนอโดยละเอียดในครั้งต่อไป

 

จากที่เราได้ทำการคำนวณโซล่าเซลล์มาทั้งหมด ซึ่งมีทั้ง ขนาดติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมกับการใช้งาน พื้นที่ที่ใช้ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ค่าไฟฟ้าที่ลดได้จากการติดตั้ง และสุดท้ายคือระยะเวลาคืนทุนคร่าวๆ ของการติดตั้งโซล่าเซลล์ จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่าย และถูกต้องแม่นยำมากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมและคุ้มค่า เพิ่มความสุขทุกครั้งที่เราใช้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยที่เงินในกระเป๋าเหลือเพิ่มขึ้นในทุกๆเดือน และยังเป็นส่วนหนึ่งในช่วยส่งเสริมพลังงานทดแทน ให้โลกใบนี้ของเราทุกคนน่าอยู่ และสะอาดปลอดภัยต่อทุกๆคน ตั้งแต่วันนี้ไปจนชั่วลูกหลานอีกด้วยครับ